ซื้อรถยุโรปมือสองควรดูตัวถังอย่างไร ดูตรงไหน แบบไหนรับได้ แบบไหนจะโดนหลอก

คลิปนี้พอให้แนวทางในการเลือกซื้อรถมือสองอย่างปลอดภัย (ไม่มากก็น้อย)

#Vlogเรื่องรถกับพี่อาร์ต #พี่อาร์ต #ซื้อรถอะไรดี #รถมือสอง #ปีอะไร #ไมล์เท่าไหร่ #กี่กิโล #Mercedes #Benz #BMW

คำเตือน

ทั้งหมดเป็นเพียงวิธีการดูรถของผม อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด อาจไม่ครบทั้งหมด เพราะผมไม่ใช่เต้นท์ ไม่ได้ช่าง ไม่ใช่คนขายรถมือสอง บทความนี้เป็นเพียงแนวทางการดูในแบบ “คนซื้อรถ” คนหนึ่งเท่านั้น

ใครมีเทคนิคอื่น ๆ ช่วยแชร์ บอกเล่ากันด้วยจะขอบคุณมาก ๆ ครับ

หลัก ๆ ที่เค้าคุยกันก็จะใช้คำว่า ไม่มีชนหนัก พลิกคว่ำ จมน้ำ ตัดต่อ สีเดิมจากโรงงาน แล้วมันคืออะไร

  1. ไม่มีชนหนัก ส่วนมากเต้นท์จะหมายถึงชนไม่ถึงคานหน้า คานหลัง ด้านข้างไม่ถึงโครงรถ เสาประตู
  2. ไม่พลิกคว่ำ อันนี้ง่ายเลย รถไม่เคยตะแคงข้าง หรือ หงายท้อ
  3. ไม่เคยจมน้ำ แน่นอนว่าไม่เคยตกน้ำ ตกคูน้ำมิดหลังคา ส่วนลุยน้ำท่วมนี่ไม่รู้ว่าเค้าจะเอาแค่ไหน ถ้าลุยน้ำท่วมครึ่งล้อจะนับแบบไหน ต้องถามคนขายอีกครั้ง
  4. ไม่เคยตัดต่อ คือไม่เคยตัดต่อตัวถัง ไม่ว่าจะเป็นเพราะการซ่อมหนัก หรือ สวมทะเบียน
  5. รถสีเดิมจากโรงงาน เท่าที่เจอเค้าไม่ได้หมายถึงรถไม่เคยทำสีนะ แต่เค้าหมายถึง สีตรงเล่มตามที่มือ 1 ซื้อออกจากศูนย์รถยนต์ ไม่เคยเปลี่ยนสีมาก่อน 

การดูตัวถังนั้นเฉพาะคนดูรถเก่ง ๆ มีประสบการณ์เค้าใช้เวลากันหลายปีกว่าจะชำนาญ บทความนี้คงไม่สามารถบรรยายได้หมด และคงไม่ลงรายละเอียดมากนัก เพราะเผลอ ๆ อาจสร้างผลเสียให้กับเพื่อน ๆ มากกว่าผลดี เพราะรถแต่ละรุ่นมีจุดสังเกตุไม่เหมือนกัน หากจำไปผิด ๆ พาลจะหน้าแตกเปล่า ๆ อย่างหัวน็อตที่แก้มหน้าบางรุ่นเดิม ๆ ออกห้างมาหน้าตาจะเหมือนเคยผ่านการขันมากก่อน แต่บางรุ่นพ่นสีทับซะเยิ้มเลย

ด้านหน้ารถ

คานหน้าควรจะเดิม ไม่เคยเปลี่ยน นั่นหมายถึง สภาพควรจะรับกันทั้งชุด ไม่ใช่คานใหม่กว่าส่วนอื่น ๆ ในห้องเครื่อง จริง ๆ มีคนสอนให้ดูสติ๊กเกอร์โรงงาน และ มอก. ว่าอยู่ครบไหม แต่ผมอยากให้ดูสภาพสติ๊กเกอร์มากกว่า เพราะสติ๊กเกอร์พวกนี้มันทำกันได้ครับ งานเนียน ๆ ผมเคยเห็นมา แยกไม่ออกเลย แต่พอดีมันใหม่จนโดดกว่าชิ้นอื่นๆ

ไฟหน้า ดูปีผลิตว่าทั้ง 2 ข้างควรมีปีผลิตเดียวกัน หรือ ใกล้เคียงกัน มีมีร่องรอยผ่า หรือ เปิดโคมมาก่อน

หลัก ๆ ก็ดูว่ามีอะไรที่ดูใหม่กว่าชาวบ้าน หรือ แปลกตา หรือ อุปกรณ์ปีผลิตใหม่กว่าปีรถ

ส่องดูคัสซี / แชสซี / Chassis ตัวรถใกล้ล้อหน้าทั้ง 2 จากห้องเครื่อง บางรุ่นแชสซีสั้นแค่แท่นเครื่อง บางรุ่นยาวถึงคานหน้า แต่ทุกคันควรจะมีแชสซีที่สภาพปกติ ไม่บิดเบี้ยว หรือ มีรอยเคาะทำสี

กาวเดิมจากโรงงานยังอยู่ แต่อันนี้ยากหน่อย ต้องใช้ประสบการณ์ดูว่ากาวแต่ละยี่ห้อมีหน้าตาแบบไหน แต่เชื่อเถอะ รถที่ชนหนัก แล้วซ่อมไม่ได้เรื่อง กาวตัวถังที่ทำมาใหม่มักจะดูประหลาดกว่าส่วนอื่น ๆ ของรถ

ฝากกระโปรง หลายคนบอกให้ดูน็อตฝากกระโปรงว่าฝาเคยถอดมาหรือไม่ ผมก็ดูนะ แต่ไม่ได้สนใจว่าเคยถอดฝากกระโปรงหรือเปล่า เพราะหลายครั้งมีการทำสีฝากระโปรงหน้า แต่รถไม่ได้ชน ที่ผมดู ผมดูว่าเต้นท์เก้บมาเรียบร้อยหรือเปล่าเท่านั้นเอง ถ้าเคยถอด แต่มีเก็บสีเรียบร้อย ผมยังรับได้ ถ้าไม่เคยถอดเลยก็ดี

ด้านหลัง

ไล่ดูยางขอบคุณครับกระจก ถ้าเสื่อม ก็เผื่องบเอาไว้เปลี่ยนด้วย แล้วดูกระจกหลังว่าเดิมมั๊ย เพราะส่วนมากกระจกหลังไม่เหมือนกระจกหน้า โอกาศที่วิ่งแล้วโดนหินแตกแทบไม่มี จะแตกได้ก็โดนทุบ กับโดนชน นอกจากเคสซวยสุด ๆ คือ มีของหล่นใส่

ก้มดูแผงลำโพงหลัง ต้องเดิม ถ้าซ่อมแสดงว่าโดนชนหลังหนักมากเจอคันไหน หนีให้ห่าง

โดยชิ้นนี้รถรุ่นใหม่ ๆ ส่วนมากจะไม่ได้พ่นสี จะเป็นโลหะเคลือบกันสนิมเฉย ๆ ตามภาพด้านล่าง

เปิดฝากระโปรงหลัง เปิดแผงสักหลาด ดูสภาพเนื้อเหล็ก รอยเม็ดอาร์ค รอยเชื่อมต่าง ๆ ตะเข็บต้องดูปกติ ซึ่งคำว่าปกติมันอธิบายยากครับ ดูจากรูปก็แล้วกันครับว่าหน้าตามันควรจะประมาณไหน แต่อย่างที่บอก นี่เป็นแค่ไอเดียเฉย ๆ รถแต่ละรุ่นมีจุดสังเกตุไม่เหมือนกัน แต่นับว่ารอยเม็ดอาร์คดูได้

สีต้องเป็นสีด้าน ไม่ใช่สีเงาโดยเฉพาะ BMW ในห้องเครื่อง กับในฝาท้ายจะด้านมาก ด้านแบบทำซ้ำแทบไม่ได้ รถเบนซ์บางรุ่นพ่นสีไม่ทั่วด้วยซ้ำ

แต่รถรุ่นใหม่ ๆ ที่ไม่มียางอะไหล่ เราจะเปิดแผงสักหลาดมาดูพื้นตัวถังลำบากมาก ต้องขันน็อตหลายตัว หลายที่เค้าก็ไม่ได้อำนวยความสะดวกให้เราเปิดแผงนี้ 

แต่เราสามารถดูง่าย ๆ ด้วยการใช้กล้องมือถือ ถ่ายวีดิโอแบบเปิดไฟแฟรช แล้วเปิดช่องเซอร์วิสไฟท้าย เอามือถือส่องเข้าไป แล้วดูคลิปที่ถ่ายมา จะเห็นเนื้อเหล็กตรงท้ายรถชัดพอสมควร

สันขอบคุณครับท้ายรถ ตรงช่วงที่เป็นกลอนฝากระโปรงหลัง พยายามเอาไฟส่องเข้าไปเพื่อดูว่ามีร่องรอยการซ่อม การขันมาหรือไม่ อย่างน้อยยังพอวิเคราะห์สภาพตัวถังท้ายรถได้

ก้มดูใต้ท้องรถ ช่วงหลุมยางอะไหล่ ควรจะเดิมไม่เคยเคาะ หรือซ่อมมาก่อน ส่วนแผ่นกันความร้อนท่อไอเสีย แผงโฟมหลังกันชน อันนี้แล้วแต่ครับ ถ้าเดิมก็ดี ถ้ามีเปลี่ยน หรือ ซ่อมมาก็ต้องดูชิ้นอื่น ๆ ประกอบว่าโดนหนัก หรือ ไม่หนัก

รอบตัวรถ

ช่องไฟทั้งตัวรถต้องเนียน ทั้งฝากระโปรงหน้า ฝากกระโปรงหลัง รวมถึงขอบประตูทุกบาน ไม่ใช่ชิดข้าง กว้างข้าง 

เช็คเสา A หรือ เสากระจกบังลมหน้ารถ ควรจะเดิม ไม่เคยทำสี  เพราะถ้าชนถึงเสานี้ รถเละครับ นอกเสียจากพ่นสีไล่จากแก้ม กรณีแก้สีเพี้ยนเท่านั้น

เปิดประตู ดูซอกในประตู ควรจะเดิมตามสภาพ รถเก่าก็เก่าไป รถใหม่ก็ใหม่ บานพับต่าง ๆ อาจมีสนิม มีคราบบ้างอันนี้ต้องค่อย ๆ ดู ถ้าเจอพวกจารบีหนา ๆ โปะไว้ ให้ลองเช็ดดูว่าโปะเอาไว้ทำไม เพราะรถรุ่น 10 กว่าปีหลัง มันเป็นจารบีด้านในมองไม่เห็นแล้ว แต่ถ้าเจอรถที่มีจารบีโปะ ๆ ไว้ตามจุดต่าง ๆ ผมเดินหนีเลยนะผมไม่ชอบ เละมือ 555

อีกจุดที่คนชอบดูคือ ตะเข็บข้างรถ เวลาดูต้องดึงยางขอบประตูออกมาเพื่อดูตะเข็บ และ รอยเชื่อมด้านใน 

เสา B  หรือ เสากลางรถ ต้องเนียน ไม่มีร่องร่อยการซ่อมซึ่งสังเกตุได้จากเนื้อสี ควรจะเป็นสีไม่เงา และ เสมอกันทั้งเสา ไล่ไปยังซอกประตู 

เสา C  หรือ เสากระจกหลัง ดูโครงในของประตูว่าเรียบเนียนหรือไม่ ตรงที่ควรจะเรียบ ตรงที่ควรจะเหลี่ยมมันเข้ากันหรือไม่ โดยให้เทียบซ้าย-ขวา ต้องเหมือนกัน

การดูตัวถังนั้นอย่างที่บอกครับ ต้องคนชำนาญจริง ๆ ถึงจะรู้ว่าชิ้นไหนซ่อมมา ชิ้นไหนทำสีมา ชิ้นไหนเดิม ทีนี้เครื่องมือวัดไมครอนจึงเริ่มเข้ามามีส่วนร่วม โดยเครื่องมือนี้เป็นเครื่องวัดความหนาของสารที่คั่นระหว่างเหล็กกับเครื่องวัด ทำให้มันบอกความหนาของ สี+สีโป้ว ได้อย่างแม่นยำ ที่สำคัญสะดวกมาก ๆ แทบไม่ต้องใช้ประสบการณ์ใด ๆ ในการดูสีรถ ไม่ต้องเอามือไล่เคาะไปทั้งคันแล้วฟังเสียงเอา

รถออกป้ายแดงมา จิ้มไปสีก็ไม่เท่ากันทั้งคัน คนมีประสบการณ์เค้าจะบอกได้ว่าจิ้มตรงไหนหนา ตรงไหนบาง ถ้าจะแกล้ง ก็สามารถเลือกจิ้มตรงที่หนาหน่อย ถ้าจะหมกก็เลือกจิ้มตรงที่บางหน่อย

เต้นท์ดี ๆ หรือ คนดี ๆ เค้าจะใช้เครื่องวัดไมครอนจิ้มดูความหนาของสี จากนั้นใช้ประสบการณ์ไล่จิ้มไปว่าแนวไหนที่ซ่อมมา จะวิเคราะห์ว่าชนหนักหรือแค่ครูด

เจอคนรับจ้างดูรถที่ประสบการณ์น้อย เอาเครื่องมาจิ้มแบบที่เห็นในอินเตอร์เน็ต แล้วก็บอกว่ารถชนมานะครับรถค้า แต่ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าชนมาอาการไหน แบบนี้โดนหลอก

เจอเต้นท์รับซื้อรถ จิ้มแล้วเอะอะก็บอกรถคุณชนมา แล้วกดาราคาเราต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แบบนี้โดนหลอก

โอยเจอแบบนี้หัวจะปวด…การใช้เครื่องวัดไมครอน เป็นเพียงเครื่องมือทดแทนการเคาะฟังเสียงเท่านั้น ไม่ใช่เครื่องมือหลอกเรา มันต้องดูองค์ประกอบอื่น ๆ ประกอบกับประสบการณ์จริงครับ

สรุป

เวลาซื้อรถมือสอง ถ้าได้แบบที่ไม่ชนเลยก็จะดีมาก ถือว่าส้มหล่นครั้งใหญ่ แต่มันยากครับ ดังนั้นมันจะมีขอบเขตที่รับได้ซึ่งแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน

สำหรับผม…รถทำสีรับได้ แต่ต้องเป็นการเก็บรอยครูด รอยอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ส่งผลกับสมรรถนะรถยนต์ พวกประตูเบียดมา แล้วทำสีผมรับได้ แต่ถ้าประตูเบียดมา แต่ขับแล้วมีเสียงเอี๊ยดอ๊าด ผมรับไม่ได้

ฝากกระโปรงหน้าทำสีเพราะหินกระเด็น หรือ แมวกระโดดใส่ผมรับได้ แต่กระดูกงู หรือ คานฝากระโปรงต้องเดิมไม่เคยงอ แล้วดัดกลับ

สุดท้าย อยากให้สังเกตุว่าตัวถังมาเรียบร้อยมั๊ย สีเสมอกันหรือเปล่า ขอบยางกระดกหรือเปล่า พ่นสีมาเพี้ยนไหม พ่นสีเลอะมาที่ขอบคุณครับยางหรือเปล่า เพราะเรื่องพวกนี้เก็บง่ายมาก และถ้าเรื่องง่าย ๆ พวกนี้ยังเก็บไม่เรียบร้อย คิดเอาเองว่าตัวรถอื่น ๆ มันจะเรียบร้อยหรือเปล่า

ส่วนตำหนิต่าง ๆ ที่แต่ละรุ่นไม่เหมือนกัน รวมถึงเนื้อสีจะดูว่าซ่อมมาหรือไม่ หากไม่แน่ใจ ให้ใช้วิธีง่าย ๆ ด้วยการเทียบด้านซ้าย กับ ด้านขวา มันจะต้องเหมือนกันครับ

กรณีที่คุณมีรถอยู่ แล้วจะเอารถไปทำสี อ่านบทความนี้แล้วไม่ต้องตกใจกลัวว่าขายต่อราคาจะตกเพราะรถทำสีมา เพราะถ้าเต้นท์ดี ๆ เค้าไม่ใช่แค่เอาที่จิ้มสีมาจิ้มอย่างเดียว เค้าจะประเมินอาการที่ซ่อมด้วยว่าชน หรือ เก็บรอบคันตามสไตล์คนมีประกันชั้น 1

เพื่อความสบายใจแนะนำให้ถ่ายรูปรถก่อนทำสีทุกครั้ง พร้อมใส่วันที่ลงไปในรูป โดยจะตั้งให้กล้องมีวันที่ หรือ หาหนังสือพิมพ์มาถือถ่ายก็ได้

หากจำเป็นต้องทำสีฝากกระโปรง แนะนำให้บอกอู่สีว่าขอไม่ถอดฝากกระโปรง ทำสีประตูขอไม่ขันน็อตประตูครับ

ส่งท้ายบทความ

รถมือสองคือ รถที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว จะให้เป๊ะทุกจุด ไร้รอย คงต้องไปซื้อป้ายแดง

จุดประสงค์ที่ผมเขียนบทความมการดูรถนี้ ไม่ใช่ดูแล้วไปติ ไปต่อว่าเต้นท์รถ แต่เขียนเพื่อให้พอเข้าใจอย่างน้อยหากไปเจอเต้นท์แย่ ๆ ที่บอกว่ารถเดิมทั้งคันไม่เคยทำสี อย่างน้อยเราจะได้ไม่โดนหลอก

เวลาผมไปซื้อรถตามเต้นท์ ผมไม่ติรถเค้าเท่าไหร่ เราไปซื้อรถ ไม่ได้ไปวิเคราะห์ส่งการบ้าน ดูแล้วไม่ชอบก็เดินออก

เจอคนขายถูกชะตา รถมีเสน่ห์ก็ต่อราคาที่เหมาะสม ไม่ต่อราคาบ้าบอชนิดที่เต้นท์เอาไปด่าไล่หลัง เราสามารถดูราคากลางของตลาดได้โดยอิงจากราคาในเวปขายรถมือสองหลาย ๆ เวป ดูเยอะ ๆ แล้วเราจะพอเห็นว่าปีนี้ ไมล์ประมาณนี้ ออฟชั่นนี้ ราคาตลาดเค้าเปิดกันที่เท่าไหร่ แล้วผมก็ดูจากสภาพรถ ประเมินว่าต้องเอาไปทำอะไรต่อ แล้วควรจะใช้เงินเท่าไหร่ในการทำตัวถัง แล้วก็ต่อราคาเอา

ตัวอย่าง W205 สีเทา แผ่นปิดกล่องฟิวส์หาย คิ้วกันชนหลังหัก กล้องถอยเสีย อันนี้ผมประมาณราคาไว้ในใจ แล้วก็ต่อราคาเค้าไป ค่าซ่อมเครื่อง เกียร์ ช่วงล่าง ยังไม่ได้ แต่ราคามันมาพร้อมกับไมล์อยู่แล้วเพราะรถไมล์เยอะราคาจะถูกกว่ารถไมล์น้อย 

บางเต้นท์เก็บงานมาเรียบร้อย สีไม่เลอะ ก็ต้องให้ต้นทุนเค้ามากกว่าเต้นท์ที่ขายตามสภาพนะ แต่ละเต้นท์จะมีการ “ชงรถ” ต่างกันไปตามบทความนี้

ซึ่งการต่อราคานั้น เราจะต้องประเมินส่วนอื่น ๆ ด้วย เช่น เครื่อง เกียร์ ช่วงล่าง เดี๋ยวจะทำบทความเพิ่มให้ในส่วนอื่น ๆ ครับ รอติดตามกันในตอนต่อไปเพื่อความกลมกล่อมครบถ้วน

ส่วนใครที่เพิ่มมาติดตามกัน ลองไปอ่านบทความอื่น ๆ ประกอบได้ดังนี้

_______________________________________________

ฝากกดติดตามเพจ www.facebook.com/xenonartpage

และ ช่องยูทูปเป็นกำลังใจให้ด้วยนะครับ

https://www.youtube.com/user/artxenonart

About the author

xenon_art

บล็อคเกอร์กวน ๆ อารมณ์ดี ขี้บ่นบ้างอะไรบ้าง ชอบเขียนเรื่องสมาร์ทโฟน กิน เที่ยว และ ของเล่น เขียนบทความเป็นงานอดิเรก

twitter: @xenon_art
Instagram: xenon_art