ว่าด้วยเรื่องการชงรถ เค้าทำอะไรกัน ทำกันแค่ไหน แล้วรถมือสองที่เค้าชง กับ ยังไม่ชง หรือ ชงไม่ดี ซื้อมาแล้วเราต้องทำอะไรต่อ
#Vlogเรื่องรถกับพี่อาร์ต #พี่อาร์ต #รถมือสอง #Howto #ชงรถ
จากบทความ #ปั้นให้ดู Final Touch ปิดจ๊อบ Benz E Coupe W207 Ep.3 (ชงรถ)
เราพูดถึงการ “ชงรถ” เอาไว้ เห็นว่าน่าสนใจจึงทำหัวข้อแยกออกมาให้เพื่อน ๆ ได้เสพกันแบบสนุก ๆ และย้ำว่าสนุก ๆ อย่าไปคิดมาก
โดยทั้งหมดนี้เป็นมุมมองของ “คนซื้อรถมือสอง” คนหนึ่งเหมือนทุก ๆ ท่าน ไม่ใช่เต้นท์รถแต่อย่างใด และ พยายามไม่พาดพิงใด ๆ
ชงรถ คืออะไร?
การชงรถ หลัก ๆ คือ การที่เต้นท์รับซื้อรถมาแล้ว เอามาทำความสะอาดคราบประสบการณ์ของตัวรถ ขัดขี้ไคล ปั่นเงาสีรถ ล้างห้องเครื่อง จริง ๆ คล้าย Car Detailing แต่การทำงาน อุปกรณ์ และ น้ำยานั้น ต่างกับที่เราคุ้นตาจาก Car Care อย่างน้อยก็ที่ผมใช้บริการประจำอย่าง Be Clean
การชงรถสไตล์เต้นท์เท่าที่เห็นจนคุ้นตาคือ “เด็กชง” จะใช้แปรงสีฟันเก็บทุกซอกทุกมุมทั้งคัน ส่วนพรมก็ใช้แปรงซักผ้ามาขัด จากนั้นแล้วตากแดด ชิ้นส่วนพลาสติคบางที่ก็ใช้แปรง บางที่ก็สก็อตช์ไบรท์ตามแต่สภาพคราบสกปรกว่าฝังแน่นแค่ไหน ส่วนน้ำยาอันนี้ไม่ทราบเค้าใช้อะไร เพราะไม่เคยละลาบละล้วงไปถามเค้า
ในขณะที่ Car Care หรือพวก Car Detailing จะ “ดู” ไฮโซวกว่า ที่ใช้คำว่า “ดู” เพราะเราไม่สามาถตั้งสมการง่าย ๆ ว่า Car Care ต้องดีกว่าเต้นท์ เต้นท์ที่ใช้น้ำยาเทพ ๆ น่าจะมีเหมือนกับ Car Care ที่ใช้น้ำยาห่วย ๆ ก็น่าจะมี ดังนั้นห้ามใช้สมการว่า เต้นท์ห่วยกว่าคาร์แคร์นะ
แต่เท่าที่ผมทำร้านประจำภายอย่าง Be Clean กรุงเทพกรีฑา 7 และอนุมานว่า Car Detailing เจ้าดี ๆ ที่อื่นก็คงคล้ายกันนั้น เค้าจะใช้แปรงพิเศษในการทำความสะอาดตามซอก น้ำยาก็แชมพูเฉพาะทางยิงเป็นโฟม ภายในก็น้ำยาฟอกเบาะหนังโดยเฉพาะ ใช้แปรงขนม้าที่ไม่เป็นอันตรายต่อหนัง…อะไรประมาณนี้
ผิวตัวรถมียาขัดหลายแบบ ทั้งยาตามสีรถ ยาตามสภาพผิวสี เครื่องขัดก็จะมีหลายแบบตามแต่สภาพผิว และ พื้นที่ในการขัด
อารมณ์เหมือนร้านตัดผมทั่วไป ใช้แชมพูธรรมดา ครีมนวดพื้น ๆ กับ ร้านตัดผมอย่างดีที่ใช้แชมพูแพง ๆ ครีมนวดแพง ๆ แบบนั้นแหละครับ
การชงรถนั้น มีทั้งแบบชงมาก ชงน้อย แล้วแต่สไตล์ของแต่ละเต้นท์ ผมขอแบ่งเต้นท์เป็น 4 เลเวล ดังนี้
Level 0
ที่เป็นระดับ 0 เพราะเค้าไม่ได้ชงเลย พอเค้าซื้อรถมา ก็ทำเพียงล้างทำความสะอาด แล้วตั้งขายเลย ไม่เก็บงานใด ๆ ประหนึ่งซื้อมาแล้วเอาเข้าเข้าปั๊มล้าง แล้วเอามาตั้งขาย
เบาะจะมีคราบดำฝังอยู่หรือไม่ สีจะเงาหรือเปล่า ไม่สน
Level 1
สเต็ปนี้จะทำเบา ๆ เน้นสภาพเดิม แต่ทำมากกว่าล้างหน่อย เพราะยังมีการขัดสี ฟอกเบาะ ฟอกพรม กรีดกระจกให้ใส ๆ ซึ่งอาศัยให้เด็กชงรถประจำเต้นท์จัดการ ส่วนจะใช้เครื่องมือดีแค่ไหน น้ำยาดีเพียงใด และ ทำเก่งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเต้นท์ว่าใส่ใจแค่ไหน
Level 2
เป็น Level ที่เราจะเน้นในบทความนี้ เพราะผมชอบซื้อรถ Level นี้ มันสบายใจ สบายตากว่า
ระดับนี้เค้าก็ฟอกทำความสะอาดภายในแบบทุกซอกทุกมุม ขัดสี ชักเงาให้รถดูดี ส่วนจะเก็บละเอียดแค่ไหน น้ำยาที่ใช้จะกัดหนัก หรือการขัดสีจะดีแค่ไหน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือ “เด็กชง” ของแต่ละเต้นท์
แต่ Level 2 นี้จะเพิ่มเติมตรงที่เค้าจะเก็บงานตัวถังด้วยสำหรับรอยเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกรอยครูดไม่หนัก โดยเค้าจะเลี่ยงไม่ทำให้รถเสียราคา หรือ สร้างข้อกังขากับผู้ซื้อ เช่นฝากระโปรงหน้า มักจะไม่เก็บ เดี๋ยวคนซื้อจะหาว่ารถชนมา หลังคาก็มักจะไม่ทำ เดี๋ยวคนซื้อหาว่ารถคว่ำมา เป็นต้น
ภายใน นอกจากฟอกทำความสะอาดแล้ว หากพบว่าปุ่มลอกเยอะน่าเกลียดก็เอาไปซ่อมเสียหน่อย เบาะขาดก็เอาไปโป้วพ่นสี ถ้าเป็นเพียงรอยถลอก หรือ หนังแตกตามสภาพ เค้ามักจะปล่อยไว้ ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจเค้าครับ เก็บเนี๊ยบต้นทุนก็สูง ใช้เวลาทำนานดอกเบี้ยก็เดินเยอะ สุดท้ายเดี๋ยวจะกลายเป็นแพงกว่าเต้นท์อื่นในตลาด
Level 3
กลุ่มนี้จะอัพจาก Level 2 โดยจะเพิ่มจุดขายตรงสปาห้องเครื่อง สปาภายใน แถมเคลือบแก้วเต็มระบบ ฟังแล้วได้อารมณ์ชุดใหญ่ไฟกระพริบ พยายามทำให้รถพร้อมใช้งานที่สุด
หมายเหตุ:
Level ต่าง ๆ เป็นระดับการ “ชงรถ” ไม่ใช่คุณภาพของเต้นท์รถนะครับ เต้นใหญ่ ๆ หรู ๆ ที่เจอหลายแห่งยัง “ชงรถ” แค่ Level 1 ก็มี ดังนั้น อย่าสับสนกับระดับความอลังการของเต้นท์ กับระดับการเก็บงานของรถ
ซื้อรถชงแล้ว หรือแบบสด ๆ ดีกว่า?
สำหรับผม Level 1 ผมไม่ค่อยได้ซื้อเท่าไหร่ ส่วนมากอยู่นอกเมือง บางทีอยู่ในโซนที่ผมไม่ไปซื้อ ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่า Level 1 ราคาจะถูกกว่า พราะเน้นขายไว ไม่เสียเวลาจมทุนมานั้งชงรถเป็นสัปดาห์ แต่จากประสบการณ์จริงไม่ได้เป็นแบบนั้นทุกครั้ง
บางเต้นท์ออกแนวขี้เกียจ ตั้งราคาตลาดเท่าชาวบ้าน แต่ไม่ทำอะไรเลย เคยเจอแบบ เฮ้ย…ฝาพลาสติคครอบเครื่องหาย พี่ยังไม่หามาใส่ ราคาก็เบียด Level 2
โดยมากผมจะซื้อเต้นท์ Level 2 โดยคัดเต้นท์ที่ปรานีต ไม่มั่ว ซื้อแล้วเอามาทำต่อง่ายกว่า เสร็จเร็วกว่า เอาง่าย ๆ เจ้า W207 E Coupe คันล่าสุด ต้องมาชองเองด้วยความจำเป็น เสียเวลาชงไปร่วม 10 วัน
ส่วน Level 3 ไม่ต้องพูดถึง ไม่เอาครับ ชอบเอามาทำเองมากกว่า เพราะการขัดสี เคลือบแก้ว สปาภายในนั้น มีรายละเอียดเยอะ แม้แต่ Car Care/Car Detailing ยังต้องเลือกร้านที่น้ำยาดี ๆ อุปกรณ์ดี ๆ และฝีมือดีเลย จะให้ พนง. ประจำเต้นท์มาเคลือบแก้ว อันนี้ไม่สบายใจเท่าไหร่ เพราะเราเป็นคนจุกจิก
รวมถึงเคยเจอรถที่เต้นท์ใหญ่เคลือบแก้วมาแล้ว หดหู่ครับ เค้าเคลือบแค่ให้ได้เรียกว่าเคลือบ แต่งานออกมาลำบากสายตามาก เคลือบไม่ทั่วไม่พอ บางจุดเคลือบแล้วด่างด้วย เลยเป็นภาพจำของการแก้งานชุดใหญ่ที่บอกตัวเองว่าเลี่ยงได้ เลี่ยงดีกว่า
หากไปเจอรถที่เข้าตา ถูกใจ ไมล์เป๊ะจากเต้นท์ Level 3 ก็จะบอกเค้าเลยว่าไม่ต้องสปาอะไรมา เคลือบแก้วไม่ต้อง เดี๋ยวผมเคลือบเอง แล้วลดราคาไปสบายใจทั้ง 2 ฝ่าย
ถามว่าการชงรถดีมั๊ย สำหรับผม ผมไม่ติดว่ารถชงมาแล้ว เพราะถ้าชงมาดี เราก็ไปต่อง่าย แต่ถ้ารถชงมาไม่ดี บางทีแก้แล้วเหนื่อยยิ่งกว่า
ซื้อรถชงแล้ว ทำอะไรต่อ?
เนื่องจากแต่ละเต้นท์ใช้น้ำยาคุณภาพต่างกัน ฝีมือเด็กชงก็ต่างกัน คงตอบแบบสรุปไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละคัน ดังนั้น หากเราซื้อรถที่ชงแล้ว ก็ตรวจสภาพดังนี้
- สีภายนอก เราพึงพอใจแล้วหรือยัง ต้องซ่อมสี หรือทำอะไรมั๊ย
- สภาพสียังมีขนแมวหรือเปล่า ยังเงาขึ้นได้อีกหรือเปล่า เอาไปจอดกลางแดดแล้วขึ้นรอยวาวเป็นวงหรือไม่
- สภาพหนังภายในสะอาดพอแล้วยัง หนังแห้งแตกหรือเปล่า
- ผ้ายางบวมเก่าหรือไม่
ทั้งหมดนี่ง่ายครับ เอาเข้าร้าน Car Detailing ที่คุณไว้ใจ ให้เค้าดูสภาพว่าต้องทำอะไรต่อ ส่วนมากก็ขัดลบรอยชักเงาที่ผมทำประจำ คำว่าลบรอยนี่ ลบทั้งรอยขนแมว และรอยวาวจากการขัดสีไม่ถูกวิธีด้วย
ภายในก็เช็คสภาพหนังดูว่าต้องลง Conditioner เพื่อให้หนังมีน้ำมีนวลเพิ่มมั๊ย พรมแบนเกินไปหรือเปล่า ถ้าแบนไปก็ตีฟูเพิ่มได้ (ต้องร้านที่มีอุปกรณ์ครบเท่านั้น)
หากในรถมีกลิ่นก็จัดการ “กำจัดกลิ่นรถเก่า” อย่างที่เคยทำให้ดูแล้ว
หากใครไม่มีร้านประจำ หรือ ขึ้เกียจหาร้านที่เข้าใจวิธีการ “ชงรถ” สามารถตามรอยผมไปทำที่ Be Clean กรุงเทพกรีฑา 7 ได้ เพราะรถผมชงที่นี่ทุกคัน ไม่ว่าเต้นท์จะชงมาแล้ว หรือ ไม่ได้ชงมาก็ตาม ดังนั้นเค้าเข้าใจดีว่าต้องทำอะไรต่อ
นอกจากนี้ที่ Be Clean เค้ายังมีบริการ “ชงรถ” ให้เจ้าของรถกรณีจะเอารถไปขายต่อในราคาย่อมเยาด้วย เอาเป็นว่า เค้าทำรถผมมาทุกคัน + ประสบการณ์ car detailing ของเค้า ทำให้เค้าเข้าใจการ “ชงรถ” ครับ ไม่ต้องอธิบายเยอะ อยากได้รถสภาพไหนบอกเค้า เดี๋ยวเค้าจัดให้
google map >>> https://goo.gl/maps/YNogtcHQ3sPTMUV4A
ซื้อรถไม่ผ่านการชง ทำยังไงต่อ?
อันนี้ง่ายเลย เพราะเพิ่งทำเสร็จให้ดูไปคันนึง รถสดมาก ๆ เพราะเต้นท์ยังไม่ได้ “ชง” แต่ผมใจร้อนบอกไม่ต้องน้อง เดี๋ยวพี่ชงเอง พี่จะได้ทำคอนเท้นต์ด้วย
เพื่อน ๆ คงเห็นทุกขั้นตอนไปเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าพลาดไป ก็ตามไปเก็บได้ตามนี้
#ปั้นให้ดู Final Touch ปิดจ๊อบ Benz E Coupe W207 Ep.3 (ชงรถ)
นอกจากนี้ ผมลองถามราคาหลาย ๆ อย่างจากร้าน Be Clean มาฝากเพื่อน ๆ เป็นไอเดียนะ จะมาทำที่นี่ หรือ จะหาร้านประจำของคุณก็ได้ เอาที่เราสะดวกใจที่สุด
- ฟอกเบาะ + แผงประตู 3,000 บาท
- ซักพรม เป่าลมร้อนด้วยเครื่องมือพิเศษ แห้งว่าตากแดด 3,000 บาท
- ฟอกท้ายรถ ตัวเก็บกลิ่นเลย 1,000 บาท
- ล้าง ทำความสะอาดห้องเครื่องแบบมืออาชีพ 1,000 บาท
- ขัดสีลบรอย ชักเงาเต็มระบบ พร้อมเคลือบสี 5,000 บาท
ทั้งนี้ราคาเป็นเพียงไอเดียเท่านั้น ขึ้นอยู่กับสภาพรถของท่านด้วย ร้านอื่นอาจมีแพง หรือ ถูกกว่านี้ โปรดใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจครับ
ของถูกและดีไม่มีในโลก ทุกอย่างมีต้นทุนของมัน
ส่วนท่านที่เป็น Car Care / Car Detailing แล้วเข้ามาอ่าน ก็ลองเอาไปปรับใช้กับร้านของท่านได้ไม่ ตรงไหนสงสัย inbox ถามได้หน้าเฟสบุ๊คแฟนเพจ ยินดีช่วยครับ
สรุป
ซื้อรถอย่าคิดมากครับ ดูตามสภาพ รถที่ชงมาดี ชงมาแล้วส่วนหนึ่ง เรามาเก็บต่อไม่เหนื่อย ค่าใช้จ่ายไม่เยอะ ถ้าทำมาเรียบร้อยก็สบายใจไปเปาะหนึ่ง ถ้าไม่เรียบร้อยก็ลองประเมิณว่าจุดที่ไม่เรียบร้อย ในบทความต่าง ๆ ของผมเคยทำให้ดูหรือไม่ ราคาเท่าไหร่
รถที่ไม่ได้ชงเลย ก็ดูสภาพ เทียบกับค่าใช้จ่ายด้านบน เราก็จะได้ไอเดียว่าเราต้องเตรียมงบเท่าไหร่ แล้วก็ต่อราคากับเต้นท์ไปครับ
รถที่ชงไม่ได้เรื่อง ดูแล้วขัดตา เดินหนีไปหาคันอื่น เพราะงานแก้ลำบากกว่า และ ทำให้สวยยากกว่ารถที่ไม่ได้ชงเลยครับ
ขอให้เพื่อน ๆ สนุกกับการทำรถ และมีความสุขกับรถอันเป็นที่รักของคุณ อย่าลืมว่าเราทำรถให้เป็นรถ ไม่ใช่ทำรถให้เป็นภาระ….บ๊ายยยย
สำหรับอู่ต่าง ๆ ที่ผมเข้าใช้บริการ ได้รวบรวมเอาไว้ในบทความนี้ครับ
รวมรายชื่ออู่ที่พี่อาร์ตแนะนำ ซ่อม Benz, BMW
_____________________________________________
ฝากกดติดตามเพจ www.facebook.com/xenonartpage
และ ช่องยูทูปเป็นกำลังใจให้ด้วยนะครับ
https://www.youtube.com/user/artxenonart