ซ่อมบำรุงในแบบรถแรงจากโรงงานต้องทำอะไรบ้าง ของอัพเกรดเพิ่มความเหนียว เรียกความมั่นใจในการขับฉบับ “รถแรงอยู่บ้าน” ไม่ใช่ “รถแรงอยู่อู่” ผมเปลี่ยนอะไร ราคาเท่าไหร่

ตอนนี้โปรเจคดาวอังคารคันนี้ ใช้เงินไปเท่าไหร่แล้ว?

#Vlogเรื่องรถกับพี่อาร์ต #พี่อาร์ต #รถมือสอง #BMW #335i #E90 #N55 #ของมันต้องมี

รายการของอัพเกรด

  1. ชาร์ปซิ่ง ACL 12,000 บาท
  2. รีสโตร์ เทอร์โบ แบบเปลี่ยนเสื้อกลางใหม่ 25,000 บาท
  3. Turbo Smart DualPort Diverter 12,500 บาท
  4. Mosselman Oil Thermostat 22,000 บาท
  5. ฝาครอบกรองน้ำมันเครื่อง 1,200 บาท
  6. หัวเทียน NGK Laser Iridium 6 หัว 5,028 บาท

รวม 57,728 บาท

ในส่วนของการอัพเกรดของในเครื่องนี้ ไม่ได้ส่งผลให้รถแรงขึ้นใด ๆ แต่เป็นการเพิ่มความมั่นใจ และ ความทนทานให้กับเครื่องในระยะยาว

ใครที่ตามรอยมาปั้น จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ยกเว้นตัวชาร์ปที่ควรต้องตรวจสอบเพราะชาร์ปละลายเป็นอาการประจำรุ่นของ N54/N55 กันเลย อย่างที่เคยทำบทความเกี่ยวกับ N54 vs N55 ไปแล้ว ดังนั้นไม่ว่าท่านจะซื้อรถที่วางมาแล้ว หรือ วางเอง ควรเปิดชาร์ปมาตรวจสอบ

ACL – Race Series

อย่างคันนี้เปิดออกมาแล้วพบว่าสภาพชาร์ปโดยรวมถือว่าดูดี มีร่องรอยการใช้งานตามปกติ แต่ชาร์ปสูบ 4 เริ่มมีรอยถลอกลึก สภาพนี้ถามว่าใช้ต่อได้ไหม ก็ใช้ต่อได้อีกสักระยะ แต่เพื่อความ “จบ” ให้เหนียว ผมเปลี่ยนชาร์ปใหม่ โดยใช้ชาร์ปซิ่งของ ACL ที่ใช้วัสดุ TriMetal ให้ความแร็งแกร่งมากกว่าชาร์ปสแตนดาร์ท ทนต่อบูสเยอะ ๆ แรงม้าเยอะ ๆ ได้ดีกว่าเดิมไปทีเดียวเลย

ReStore เทอร์โบใหม่

ตามสเต็ปของการปั้นเครื่อง โดยเฉพาะรถที่เน้นแรงม้า ไม่ว่าจะรถเดิมเตรียมตัวเอาไปจูน หรือ รถซิ่งมาแล้ว สิ่งที่ควรทำคือถอดเทอร์โบออกมาตรวจสอบกับร้านเทอร์โบมาตรฐาน

รถผมซื้อมาขับปกติ เครื่องนิ่ง กดคันเร่งปุ๊ปม้าก็มา อาการเหมือนปกติ แต่พอถอดเทอร์โบส่งไปตรวจเช็คที่ WorldTech ย่านประเวศ พบว่ามีอาการน้ำมันขาด แกนสึก ใบสึก

ผมแจ้งทางคุณจีน WorldTech ไปว่าคันนี้เป็นรถโปรเจคดาวอังคาร เดี๋ยวมีการเอาไปจูนต่อทาง WorldTech เสนอเปลี่ยนชุดกลางยกชุดไปเลยน่าจะจบ และ ชัวร์กว่า

เปลี่ยนชุดกลางเสร็จก็เอาไปบาลานซ์เทอร์โบใหม่ให้ได้ตามมาตรฐาน แก้ไขใบที่บิ่นเปลี่ยนใหม่

ส่วนใครที่สงสัยว่าคันนี้ผมจะอัพเทอร์โบหรือไม่ ตอบให้เลยครับว่าอัพใบหน้าครับ ส่วนราคา รายละเอียดเอาไว้บทความหน้านะครับ บทความนี้เน้นรายการ และ ราคาของการทำรถให้สมบูรณ์แบบเดิม ๆ ที่สุด

ราคา Restore เทอร์โบ 25,000 บาท

Turbo Smart

ในส่วนของ Turbo Smart เป็นรุ่น Dual Port Diverter ซึ่งทำหน้าที่คุมไอดีส่วนเกิน ซึ่งเกิดจากเวลาเรากดคันเร่ง เทอร์โบทำงานปั่นอากาศผ่านอินเตอร์คูลเลอร วิ่งเข้าห้องเผาไหม้ จังหวะกดหนัก ๆ แล้วยกคันเร่ง จะมีอากาศค้างในระบบ ซึ่งต้องระบายออกจากระบบป้องกันอากาศดันย้อนไปทำลายใบเทอร์โบ

เดิม ๆ นั้นรถมี Diverter พลาสติค คุมไอดีส่วนเกินแล้วโอนคืนกลับเข้าระบบไอดี แต่ Turbo Smart Dual Port Diverter เป็นโลหะ มีการคุมอาการที่ดีกว่า แม่นยำกว่า และ เปิด-ปิด เร็วกว่าเดิม ลดอาการแลคในจังหวะกด ๆ ถอน ๆ เรียกว่าตอบสนองต่อคันเร่งดีกว่าเดิม อีกทั้งยังเพิ่มอารมณ์การขับขี่ด้วยการคืนไอเสียครึ่งหนึ่งกลับไปในระบบไอดี อีกครึ่งหนึ่งคายสู่บรรยากาศภายนอก สร้างเสียง “ฟิ้ว ๆ ๆ” ตอนยกคันเร่ง

ชิ้นนี้ เป็นชิ้นแนะนำไม่ว่าคุณจะทำรถเดิม หรือ ทำรถซิ่ง เพราะ Diverter เดิม ๆ นั้นใช้ไปเป็นแสนโล อาจะเกิดอาการล้า บางคันขอบยางในชุดวาล์วแข็งหมดสภาพทำให้การคุมอากาศไม่ดีเท่าเดิม หากมีจังหวะยกเครื่องออกมา ก็ควรจะเปลี่ยนไปเลยทีเดียวครับ เพราะหากเปลี่ยนในรถจะยากมาก

Oil Thermostat

Mosselman Oil Thermostat ตัวนี้เปินวาล์วคุมอุณหภูมิน้ำม้นเครื่อง ซึ่งเดิม ๆ อุณหภูมิน้ำมันเครื่องของ N55 จะ
อยู่ที่ 120 องศาเซลเซียส แต่ Mosselman ชุดนี้ผลิดมาเพื่อให้วาล์วคุมลดอุณหภูมิลงประมาณ 20 องศาเซลเซียส 

นั่นหมายถึงแทนที่วาล์วจะเปิดให้น้ำมันระบายสู่ Oil Cooler เพื่อคุมอุณหภูมิให้คงที่ 120 องศาฯ หลังจากเปลี่ยนตัวนี้ไป ระบบจะพยายามคุมอุณภูมิให้อยู่ที่ 100 – 110 องศาฯ (โดยประมาณ)

สำหรับเมืองร้อนอย่างบ้านเรา อาจจะสูงเกินไป ความร้อนสะสมในตัวเครื่องตลอดเวลา ซึ่งหลาย ๆ คันก็ใช้งานได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าคิดจะทำเครื่องซิ่งแบบโปรเจคดาวอังคารนี้ Mosselman Oil Thermostat คือ “ของมันต้องมี” จริง ๆ เพราะนอกจากเปิดฝากระโปรงออกมาแล้วเท่ห์จัด ๆ แล้ว เค้ายังช่วยยืดอายุเครื่อง เพิ่มความเหนียวอีกด้วย

NGK Laser Iridium

หัวเทียนเลือกใช้ NGK Laser Iridium เบอร์ตรงรุ่นเครื่อง N55 เพื่อจ่ายไฟแรงขึ้น จุดระเบิดดีขึ้น รองรับบูสได้มากขึ้น ลดความร้อนในเครื่องได้เล็กน้อย

สำหรับหัวเทียนนี้เป็นอีกจุดที่หลายคนมองข้ามไป ไม่ว่าจะรถเดิม หรือ รถซิ่ง เอาจริง ๆ พวกนี้เค้ามีอายุการใช้งานอยู่ครับ มันอยู่ในชุดเซอร์วิสระยะ 1 แสนกิโลฯ ของรถเบนซินอยู่แล้ว เพียงแต่ส่วนมากจะเปลี่ยนกันตอนมีอาการ misfire กัน  แต่ผมเปลี่ยนไปเลยให้มันจบ ๆ ครับ

Oil Filter Cap

ชิ้นสุดท้ายคือ ฝาครอบกรองน้ำมันเครื่องอลูมิเนียม อันนี้เอาเท่ห์ล้วน ๆ ครับ

ชิ้นนี้เดิมเป็นพลาสติค เราก็แค่สลับมาใช้อลูมิเนียมชุบอโนไดซ์สีน้ำเงินให้เข้าธีมกับ Crank Guard ลงตัวกับรถสีขาว

ข้อดีนอกจากเท่ห์แล้ว ยังลดโอกาศฝารูดจากการขันเปิด-ปิด พลาดได้ด้วย เรียกว่าฝาแบบนี้เปิด-ปิด ง่ายกว่า และ แข็งแรงกว่าพลาสติค 

ทั้งหมดนี้คือ การอัพเกรดของเพิ่มความเหนียวให้กับ N55 โปรเจคดาวอังคารคันนี้ 

ในส่วนของการซ่อมบำรุง รายการจะคล้าย ๆ กับ 740Li ของผมที่เป็นเครื่อง N55 เหมือนกัน โดยสิ่งแรกที่ต้องตรวจสอบนอกจากการเช็ครั่วซึมรอบตัวเครื่อง กับเทอร์โบแล้วนั่น 

คือรางโซ่ครับ รางโซ่เช็คง่าย เพราะเปิดฝาเติมน้ำมันเครื่องออกมาก็เห็น เครื่องรุ่นนี้โซ่ไม่ค่อยมีปัญหา แต่งที่ทำจากพลาสติคทนความร้อน (เรียกชื่อไม่ถูกครับ) เมื่อมีอายุระดับนึง สีจะเปลี่ยนจากสีขาว เป็นสีน้ำตาลแดง หากสีเข้มมาก ๆ เป็นสัญญาณให้รู้ว่าหมดสภาพแล้ว

ดังนั้นรถเครื่องตระกูล N ที่เป็นเบนซิน เพื่อความสบายใจ ผมมักจะจับเปลี่ยนรางโซ่ แม้จะไม่ได้ยกเครื่องลงมารื้อเหมือนคันนี้ก็สามารถเปลี่ยนได้ไม่ยากเพราะชุดโซ่อยู่หน้าเครื่อง และชุดโซ่ราคาไม่แพง ดีกว่ารางแตกแล้วพัง พังแล้วหมดเป็นแสนอีก

คันนี้เปลี่ยนเฉพาะรางโซ่ ชุดบน และ ชุดล่าง ส่วนโซ่ และ เฟืองแคมอยู่ในสภาพสมบูรณ์ก็ข้ามไป

รายการซ่อมบำรุง….อู่ยังทำบิลไม่เสร็จ

วันนี้เราจึงยังไม่ทราบว่า นอกเหนือจากส่วนที่ผมดำเนินการอัพเกรดของเหนียวแล้ว อุปกรณ์มาตรฐานที่เบิกศูนย์มา รวมถึงหลาย ๆ พาร์ทที่ต้อง airfreight มา รวมค่าแรง ค่ายกเครื่อง ของเหลวต่าง ๆ ทาง RR Roadrunner ลาดพร้าว 80 จะคิดเท่าไหร่ 

แต่คาดว่าน่าจะประมาณแสนกว่าบาท เน้นอุปกรณ์ซีล ท่อ และ รางพลาสติตต่าง ๆ ที่เยอะมากกกก แอบเห็นบิลแว๊ป ๆ ประมาณ 5 หน้าได้

เพื่อน ๆ คิดว่าบิลที่ RR Roadrunner จะออกมาเท่าไหร่ ไปคอมเม้นต์สนุก ๆ ได้ที่หน้าเพจเฟสบุ๊ค หรือ ทางยูทูปได้เลยครับ

ปล. ทายถูกไม่มีของรางวัลนะ อุ อุ

ตอนนี้เครื่องก็สมบูรณ์ในแบบ รถ N55 ที่แข็งแกรงกว่าเดิม พร้อมใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างสบายใจ เพราะเราซ่อมเก็บจุดอ่อน และ เพิ่มของเหนียวไปแล้ว เค้าจะเป็นรถแรงโรงงานที่ขับสบายใจ อยากขับเมื่อไหร่ก็หยิบกุญแจออกมาสตาร์ทแล้วไปมีความสุขได้ทันที ไม่ต้องระแวงใด ๆ ทั้งสิ้น

ใช้งบประมาณจึนถึงวันนี้ไปทั้งสิ้น

  1. ซ่อมเบรค Brembo 44,500 บาท
  2. ซ่อมสีล้อ BBS 2,000 บาท
  3. โช้ค Tein EDFC + ค่าซ่อม 49,000 บาท
  4. ของอัพความเหนียว 77,728 บาท

รวม 173,228 บาท

ทีนี้เพื่อน ๆ คงได้เห็นไอเดียแล้วว่าซื้อรถที่วางเครื่องอัพเกรดแบบ “ตรงรุ่น” มาต้องทำอะไรบ้าง ทั้งนี้ เวลาทำรถแนวนี้ ไม่ใช่ซื้อมาก็จะห่วงแต่ซิ่ง ห่วงแต่ Performance นะ มันต้องเริ่มจากเราทำรถให้สมบูรณ์ก่อนแต่ยังครับ ยังไม่จบ เค้าจะแรงแบบเดิม ๆ ก็ไม่ใช่โปรเจคดาวอังคารแล้วครับ

บทความหน้าเรามาต่อกันว่า “ของซิ่งอัพแรงม้า” เราใส่อะไรลงไป ราคาแต่ละชิ้นเท่าไหร่ แล้วเราจะปั่นแรงม้าลงพื้นได้กี่ตัว กับโปรเจครถแรงใช้ได้ทุกวัน อยู่บ้าน ไม่ใช่อยู่อู่

พบกันใหม่เร็ว ๆ นี้ครับ

_____________________________________________

ฝากกดติดตามเพจ www.facebook.com/xenonartpage

และ ช่องยูทูปเป็นกำลังใจให้ด้วยนะครับ

https://www.youtube.com/user/artxenonart

About the author

xenon_art

บล็อคเกอร์กวน ๆ อารมณ์ดี ขี้บ่นบ้างอะไรบ้าง ชอบเขียนเรื่องสมาร์ทโฟน กิน เที่ยว และ ของเล่น เขียนบทความเป็นงานอดิเรก

twitter: @xenon_art
Instagram: xenon_art