Intercooler / อินเตอร์คูลเลอร์ สำหรับรถเครื่องเทอร์โบทำงานยังไง มีกี่ประเภท เลือกใช้อย่างไร
แล้วเราต้องเปลี่ยน ต้องอัพเกรดหรือไม่ วันนี้มาเล่าให้ฟัง
#Vlogเรื่องรถกับพี่อาร์ต #พี่อาร์ต #รถมือสอง #Howto
หน้าที่ของ Intercooler
หน้าที่ของเค้า คือ ลดอุณหภูมิอากาศที่จะเข้าสู่ห้องเผาไหม้
อากาศหากยิ่งร้อน ความหนาแน่น / มวลอากาศจะบางลง ออกซิเจนน้อยลง เมื่อเครื่องอ่านค่า ออกซิเจนได้น้อยลง จะจ่ายน้ำมันน้อยลงให้เหมาะสมกับการจุดระเบิด ผลที่ได้คือ รถไม่แรง
หากอากาศเย็นลง มวลอากาศมากขึ้น เซ็นเซอร์วัดได้ค่าออกซิเจนมากขึ้น ก็จะจ่ายน้ำมันมากขึ้น การจุดระเบิดจะรุนแรงขึ้น ผลก็คือ รถแรงขึ้น
นอกจากนี้ หากอากาศที่เข้าห้องเผาไหม้มีอุณหภูมิต่ำลง ตัวเครื่องยนต์ก็จะมีความร้อนสะสมที่เสื้อสูบน้อยลง ส่งผลให้ความร้อนทั้งระบบในห้องเครื่องลดลง นั่นหมายถึง นอกจากรถจะแรงขึ้น เครื่ยนต์ยังมีความทนทานมากขึ้นด้วยแม้จะไม่ได้มาก แต่นับเป็นผลพลอยได้ที่ดีของ Intercooler ครับ
การทำงานของ Intercooler
รถเครื่องเทอร์โบจะมาพร้อมกับ Intercooler ซึ่งจะต่อจากเทอร์โบ โดยเทอร์โบจะดูดอากาศผ่านกรอง แล้วดันผ่านท่อเข้าสู่ Intercooler ที่มีลักษณะเป็นรังผึ้งเหมือนหม้อน้ำแต่หนากว่ามาก เพื่อให้อุณหภูมิของอากาศที่ถูกปั่นผ่านเทอร์โบเย็นลง และถูกดันต่อเนื่องเข้าสู่ห้องเผาไหม้
ถึงตรงนี้หลายคงอาจสงสัยว่า ทำไมต้องมี Intercooler เพราะรถไม่มีเทอร์โบไม่เห็นจำเป็นเลย กะอีแค่ปั่นอากาศเยอะขึ้นมันต้องมี Intercooler เลยหรือ?
จริง ๆ แล้ว อากาศที่ถูกปั่นด้วยเทอร์โบนั้น จะมีอุณหภูมิสูงกว่าอากาศปกติครับ อย่าลืมว่าเทอร์โบนั้นถูกขับเคลื่อนด้วยไอเสียร้อน ๆ มาหมุนใบพัดฝั่งโข่งไอเสีย แล้วใช้แกนใบพัดร่วมกันมาหมุนใบพัดโข่งไอดีให้ดูดอากาศ
ดังนั้นอากาศที่ปั่นผ่านเทอร์โบ จะได้รับความร้อนสะสมของเทอร์โบไปด้วย รถวิ่งนาน หรือ เทอร์โบใหญ่ แรงม้าเยอะ ๆ ตัวเทอร์โบจะร้อนมาก บางคันร้อนจนแดงเลยก็มี อากาศที่ผ่านเทอร์โบร้อน ๆ ก็จะร้อนมากตามไปด้วย
และอย่างที่บอกตอนต้นว่า อากาศร้อน ไม่ส่งผลดีต่อเครื่องยนต์ครับ
จำเป็นต้องเปลี่ยนมั๊ย?
ถ้าคุณเป็นรถเดิม ๆ จากโรงงาน “ไม่จำเป็น” ต้องเปลี่ยน Intercooler ครับ แต่ถ้าอยากเปลี่ยน หรือ ของเดิมเสีย ก็สามารถอัพเกรดได้นะไม่ส่งผลเสียใด ๆ หากเราเลือกขนาดที่เหมาะสม
สำหรับรถจูนแรงม้า มีการเพิ่มบูสของเทอร์โบ การอัพเกรด Intercooler ก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาประกอบตั้งแต่ Stage 1 เพราะบูสมากขึ้น ความร้อนย่อมมากขึ้น ปริมาณอากาศมากขึ้น Intercooler เดิมติดรถยนต์อาจจะระบายความร้อนไม่ทัน และ/หรือ มีขนาดเล็กไป ทำให้เกิดคอขวดของอากาศที่ไม่โฟลวพอ
เทอร์โบรถคุณอาจจะปั่นได้ 2 bar แต่ไปติดที่อินเตอร์ฯ เล็ก อากาศเข้าห้องเผาไหม้จริงแค่ 1.5 bar อีกทั้งอากาศร้อน เครื่องยนต์ร้อน ระบบระบายความร้อนของเครื่องยนต์ก็จะทำงานหนักไปด้วย
ทีนี้เวลาเปลี่ยนก็ต้องดูขนาดด้วย ถ้าใหญ่เกินไป เทอร์โบสร้างบูสพอที่จะดันมวลอากาศผ่าน “ห้อง” ใน Intercooler ขนาดใหญ่ได้อย่างเพียงพอ แรงดันอากาศตกลง เผลอ ๆ รถอาจแรงน้อยกว่าอินเตอร์ฯ เดิมด้วยซ้ำ
ประเภทของ Intercooler
- Air to Air หรือ อินเตอร์อากาศ ใช้อากาศที่ปะทะจากหน้ารถเพื่อลดความร้อน ส่วนมากมักจะอยู่ระหว่างรังผึ้งแอร์ กับหม้อน้ำ บางรุ่นอาจเอาไว้บนเครื่องยนต์แล้วเจาะสคูปบนฝากระโปรงเพื่อรับลม
- Air to Water หรือ อินเตอร์น้ำ เป็นระบบปิด โดยใช้น้ำเลี้ยงแผงรังผึ้งเพื่อลดความร้อน ความสามารถในการลดความร้อนขึ้นอยู่กับระบบน้ำที่มักจะเป็นระบบเพิ่มขึ้นมา ทั้งกระป๋องพักน้ำ ปั๊มน้ำ
อันนี้แค่เล่าให้ฟังเฉย ๆ เพราะระบบพวกนี้ ผู้ผลิตรถยนต์เค้าออกแบบมาแล้ว เราไม่ได้เลือก รถมาแบบไหนก็ใช้แบบนั้น แค่อัพเกรดให้ประสิทธิภาพดีขึ้นเท่านั้น
แต่หากถามว่าแบบไหนดี ก็ต้องบอกว่า อินเตอร์น้ำ ระบายความร้อนได้ดีกว่า สามารถเอาไปไว้ตรงไหนก็ได้ เพราะไม่ได้ต้องการลมปะทะ แต่ก็มีราคาค่าซ่อมที่แพงกว่าเพราะเราต้องซ่อมระบบน้ำเพิ่มด้วย
ในขณะที่ อินเตอร์อากาศต้องการพื้นที่ในการรับลมภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุม และใช้พื่นที่มากกว่า ทว่าการซ่อมบำรุงง่ายกว่า เพราะไม่มีชิ้นส่วนซับซ้อนเลย
ชนิดของ Intercooler
นอกจากระบบแล้ว Intercoler มีทั้งแบบสำเร็จรูปตรงรุ่น ซื้อมาถอดของเก่า สลับใส่ของใหม่ ขัดน็อตแล้วจบเลย กับ แบบ Custom คือ เป็นส่วนแผงระบายความร้อนมาตัดให้ได้ขนาดที่ต้องการ แล้วสร้างปากทางเข้า-ออก ของอากาศให้ตรงตามรุ่นรถ หรือ พื้นที่ในรถ
ซึ่งไม่ว่าจะเป็น Intercooler แบบสำเร็จรูป หรือ สั่งตัดนั้น ตัวแผงระบายความร้อนจะมี 2 ประเภท แบ่งตามกรรมวิธีการผลิต และ ลักษณะของท่อลมภายในแผงรังผึ้ง โดยแบ่งเป็น
- Bar and Plate
- Tube and Fin
Bar and Plate
จะเป็นชุดแผงรังผึ้งสำเร็จรูป มาตัดเป็นชิ้น ๆ ตามความกว้างที่ต้องการ แล้วเอามาทับซ้อนกันให้ได้ความสูงที่พอดีกับตัวรถ ลักษณะคล้ายหม้อน้ำนั่นเอง (อธิบายยากนิดนึงดูรูปประกอบเอานะครับ)
เป็นการผลิต Intercooler แบบแรก ๆ เลย ซึ่งเป็นแบบที่โรงงานผู้ผลิตรถยนต์ชอบใช้กันเพราะผลิตง่าย ราคาไม่แพง แถมทนทาน
ข้อดี คือ โครงสร้างแข็งแรง ทนทานมาก ระบายความร้อนได้ดี สะสมความร้อนช้ากว่า ราคาถูกกว่า
ข้อเสีย คือ น้ำหนักมากกว่า อากาศไหลเวียนไม่ดีเท่า Tube and Fin
Tube and Fin
เป็นเทคโนโลยีใหม่กว่า โดยการเอาท่อมาเชื่อมกับครีบเพื่อสร้างเป็นรังผึ้งระบายความร้อนของอากาศ การผลิตซับซ้อนกว่า
ข้อดี คือ เบากว่าเท่าตัว + ระบายความร้อนได้เร็ว เพราะใช้อลูมิเนียมแบบบาง
ข้อเสีย คือ สะสมความร้อนได้ง่าย ความทนทานน้อยกว่า เสียหายง่ายกว่า
การใช้งานต่างกันอย่างไร?
จากข้อมูลของเมืองนอก และ พวกเวปผู้ผลิตผมรวบรวมและสรุปมาให้ได้ดังนี้
Bar and Plate เหมาะสำหรับคนเมือง ขับรถติด ๆ จอด ๆ เพราะสะสมความร้อนช้า ไม่ได้ต้องการลมปะทะตลอดเวลาก็ยังคงรักษาคุณสมบัติการระบายความร้อนได้
Tube and Fin เหมาะสำหรับรถที่วิ่งยาวหน่อย หรือ วิ่งระยะสั้น ๆ ไม่ว่าจะวิ่งบนถนนโล่ง ๆ รถแข่ง รถ drag ที่ต้องการน้ำหนักเบา และ มีลมเข้าระบายความร้อนตลอดเวลา เพราะเค้าร้อนเร็ว และ ระบายเร็ว
แต่เอาจริง ๆ นะ ผมใช้มาทั้ง 2 แบบ แล้ว การใช้งานในเมืองบ้าง สลับซิ่งบนทางโล่ง ๆ บ้างในบางโอกาศ ความแตกต่างในการขับขี่มีไม่มากขนาดนั้น ใช้ได้ดีทั้ง 2 แบบ
ยิ่งเป็นพวกสำเร็จรูปที่มักจะใช้กัน รถบางรุ่นอย่าง BMW F30 ยี่ห้อ Wagner เป็น Tube and Fin แต่ยี่ห้อ VRSF เป็น Bar and Plate
ในขณะที่รถบางรุ่นไม่ได้มียี่ห้อให้เลือกมาก ก็ต้องซื้อแบบที่เค้ามีขาย เอาตรง ๆ ไม่ต้องซีเรียสมากครับ ทั้ง 2 แบบถือว่าระบายความร้อนดีกว่าของเดิมเยอะมากอยู่แล้ว ใช้ได้หมดแหละ
หลัก ๆ ขึ้นอยู่กับคุณภาพการผลิตรังผึ้ง และ การออกแบบข้ออากาศเข้าออกมากกว่าครับ
ในมุมของรถยุโรปที่เป็นรถหลักของช่องเรา การเลือกเปลี่ยน Intercooler ค่อนข้างง่ายเพราะมักจะมีตรงรุ่นมาให้เลือก และในรถหลาย ๆ รุ่น และเป็นทางเลือกที่ดีในการอัพเกรด หรือ เปลี่ยนแทนของเก่าที่ชำรุด ได้ดี
ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านครับ
_____________________________________________
ฝากกดติดตามเพจ www.facebook.com/xenonartpage
และ ช่องยูทูปเป็นกำลังใจให้ด้วยนะครับ
https://www.youtube.com/user/artxenonart